ลักษณะเด่นของภาษาไทย(ต่อ)
๔. ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปคำเมื่อนำไปเข้าประโยค
เพื่อแสดงเพศ พจน์ กาล มาลา และวาจก หากต้องการบอกสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าว
จะใช้คำขยายช่วย เช่น
นักศึกษาชาย นักศึกษาหญิง (แสดงเพศ)
อาจารย์หลายคน อาจารย์ทั้งหมด (แสดงพจน์)
ผู้แทนฝ่ายค้านกำลังอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล (แสดงกาล)
เธอควรอ่านหนังสือ (แสดงมาลา)
ช้างป่าถูกเผานั่งยางกลางป่า (แสดงวาจก)
ฯลฯ.
๕. ภาษาไทยส่วนมากใช้ตัวสะกดตรงตามมาตราตัวสะกด
คือ
แม่ กก ใช้ ก
เป็นตัวสะกด เช่น แมกไม้ แยก แสก ฉาก ฯลฯ
แม่ กง ใช้ ง เป็นตัวสะกด เช่น เก่ง แพง แว้ง ล่าง ฯลฯ
แม่ กน ใช้ น
เป็นตัวสะกด เช่น นอน แกน ปีน กิน ฯลฯ
แม่ กม ใช้ ม
เป็นตัวสะกด เช่น ลม ต้ม ส้ม ล้ม แก้ม ฯลฯ
แม่ กบ ใช้ บ
เป็นตัวสะกด เช่น เล็บ งบ แวบ แหบ ฯลฯ
แม่ กด ใช้ ด
เป็นตัวสะกด เช่น หด ลาด รีด มืด ฯลฯ
แม่ เกย ใช้ ย เป็นตัวสะกด เช่น เคย มากมาย ก่าย หาย
แม่ เกอว ใช้ ว เป็นตัวสะกด เช่น แห้ว เลว ลิ่ว เขี้ยว แก้ว ฯลฯ
อนึ่ง
พยางค์ที่ไม่มีตัวสะกดเรามักเรียกว่า ตัวสะกดในแม่ ก กา เช่น มา ดี ไร่ นา เป็นต้น
๖. คำในภาษาไทยมีลักษณนาม
เพื่อบอกลักษณะของคำนามที่อยู่ข้างหน้า เช่น แหวน ๓ วง เสือ ๘ ตัว ขนมจีน ๒ จับ
พลู ๕ จีบ ลักษณนาม ถือได้ว่าเป็นลักษณะพิเศษของภาษาไทย คำนาม ๑ คำ
อาจมีลักษณนามเรียกได้หลายคำขึ้นอยู่กับลักษณะต่าง ๆ ของ คำนามที่ปรากฏ เช่น
ลักษณนามของผ้า อาจมีลักษณนามเป็น ผืน พับ ม้วน ตั้ง กล่อง ฯลฯ.
อนึ่ง คำลักษณนามที่บอกจำนวนนับที่ไม่เกินหนึ่ง อาจปรากฏอยู่หน้าจำนวนนับ
เช่น
นกตัวหนึ่งบินข้ามเสาธงหน้าอาคารเรียน
นักศึกษาคนหนึ่งสอบได้เกียรตินิยม
จำนวนนับที่เป็น ๑๐๐ ๑,๐๐๐ ๑๐,๐๐๐
เป็นต้น ในภาษาพูดนิยมใช้ ร้อยหนึ่ง พันหนึ่ง หมื่นหนึ่ง ก็มี
นอกจากนี้ ลักษณนามอาจปรากฏติดกับคำนามโดยละจำนวนนับที่เป็นหนึ่งไว้ในฐานที่เข้าใจ
ซึ่งมักใช้เพื่อเน้นข้อความ เช่น
บ้านหลังนี้ทาสีสวย
ตำรวจคนนั้นปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น